ปากกาลูกลื่น

ปากกาลูกลื่น

ในปี ค.ศ.1900 ปากกาหมึกซึม ได้พบคู่แข่งใหม่นั่นก็คือ ปากกาลูกลื่น (Ballpoint Pen) ปากกาที่มีลูกกลิ้ง (Ball) กลมๆ เล็กๆ อยู่ที่ปลายปากกา เวลาเขียนลูกกลมๆ เล็กๆ นี้จะหมุน (กลิ้ง) ทำให้หมึกออกมาติดบนกระดาษ ปากกาชนิดนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว โดยชาวอเมริกาชื่อ จอห์น เอช. ลาวด์ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ขีดเขียนบนพื้นที่หยาบๆ ซึ่งไม่ใช่กระดาษ ปลายปี ค.ศ.1930 นักหนังสือพิมพ์และศิลปินชาวฮังกาเรียน ชื่อ ไบโร ได้ประดิษฐ์ปากกาลูกลื่นขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่ง ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ไบโรได้เกิดแนวความคิดจากหมึกแห้ง (Quick-drying ink) ที่ช่างพิมพ์ในโรงพิมพ์นั้นใช้พิมพ์หนังสือ จึงคิดหาวิธีนำหมึกชนิดนี้มาบรรจุลงในปากกา โดยที่หมึกจะไม่ไหลและหยดออกมาจนเปื้อนกระดาษ ในที่สุดก็ประดิษฐ์ปากกาที่ใช้หมึกแห้งขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็คือ ปากกาลูกลื่น (Ballpoint pen) สามารถใช้ขีดเขียนโดยไม่มีหมึกหยดและไหลเปรอะเปื้อนเหมือนปากกาหมึกซึมแบบเก่า ปี ค.ศ.1938 ไบโรได้ทำการจดทะเบียนสงวนลิขสิทธิ์ แต่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาก่อน เขาจึงได้หนีนาซีไปอยู่ที่ฝรั่งเศส สเปน และเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ไปอยู่ที่ประเทศอาร์เจนตินา


ไบโร
นักหนังสือพิมพ์และศิลปินชาวฮังกาเรียน

ต้นปี ค.ศ.1940 ณ กรุงบัวโนส ไอเรส ไบโรได้รับความช่วยเหลือจากพี่ชายซึ่งเป็นนักเคมีผลิตปากกาลูกลื่นออกจำหน่าย แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ เขาจึงขายลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์นี้ให้กับราชการทหารของอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาในราคาไม่กี่เหรียญ ภายหลังลิขสิทธิ์ได้ถูกขายต่อให้กับบริษัท BIC (ของฝรั่งเศส) ทำการผลิตปากกาลูกลื่นยี่ห้อ BIC ออกจำหน่ายไปทั่วโลก ในระหว่างปี ค.ศ.1950-1980 สามารถจำหน่ายได้กว่า 10 ล้านด้าม/วัน ในขณะเดียวกับที่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงกลับไม่ประสบกับความสำเร็จในชีวิต สิ่งที่คงเหลืออยู่ก็คือความภูมิใจในสิ่งประดิษฐ์ที่คนทั่วโลกรู้จักและใช้ประโยชน์มาตราบเท่าทุกวันนี้


ปากกาลูกลื่น  (Ballpoint pen) น้ำหมึกที่ใช้มีลักษณะข้น แต่แห้งไว ส่วนผสมหลักของหมึกเป็นสารให้สี ละลายในสารเคมีที่กันน้ำ เช่น น้ำมัน ทำให้เมื่อหมึกปากกาแห้งแล้วสามารถทนน้ำได้

  • ปากกาลูกลื่น เป็นปากกาที่ต้องการ การบำรุงรักษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานแล้วได้นานกว่า ปากกาเจล และ ปากกาโรลเลอร์บอล ทั้งในแง่ความยาวในการเขียน และ อายุการใช้งานของหัวปากกาก่อนหมึกจะแห้ง
  • ปากกาลูกลื่น ส่วนมากจะกันน้ำ แต่ไม่กันสารละลายอื่น เช่น แอลกอฮอล์
  • ด้วยความที่หมึกของปากกาลูกลื่นข้นมาก ทำให้ได้เส้นที่ไม่ได้สม่ำเสมอในการเขียนบางครั้ง

ที่มา : ไรท์ติ้งไทย


วิธีการ แก้ปัญหา ปากกาลูกลื่น หมึกแห้ง

ถ้าปากกาลูกลื่นของคุณเกิดเขียนไม่ติดขึ้นมา แสดงว่าหมึกแห้งกรัง ไม่ก็มีอากาศเข้าไปอัดในไส้ปากกาตรงแถวๆ ลูกลื่น ไม่ว่าสาเหตุไหนคุณก็แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว ว่าแล้วก็เลื่อนลงไปอ่านขั้นตอนที่ 1 กันเลย

วิธีการที่ 1 แก้ไขแบบไม่ต้องใช้อุปกรณ์

  • ขีดเขียนเร็วๆ แรงๆ สักพัก  บางทีที่เขียนไม่ออกก็เพราะคุณไม่ค่อยได้ใช้ ถ้าขีดๆ เขียนๆ ไปสักพัก เดี๋ยวก็อาจจะใช้ได้ดีเหมือนเดิม
  • ถ้าถอดไส้ปากกาได้และเป็นไส้แบบไม่มีฝาปิดตรงปลายฝั่งตรงข้ามลูกลื่น ให้ลองเป่าลมเข้าไป 1 – 2 วินาที  บางทีแค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว
  • อาจจะถอดไส้หมึกแล้วเป่าที่ปลาย  จากนั้นก็ใส่ไส้คืน
  • กดหัวปากกาเบาๆ (บนกระดาษจะดีที่สุด) แล้วดูว่าเขียนออกไหม
  • ถือปากกาตั้ง แล้วกดลงไปแรงๆ บนกระดาษ จากนั้นเขียนลากไปทั้งที่ตั้งอยู่แบบนั้น  อาจจะทำให้หมึกไหลเขียนได้ดีเหมือนเดิม
  • ใช้ปากกาจุดบนกระดาษ  พอเริ่มเขียนติด ให้เขียนวนๆ เพื่อทดสอบปากกา
  • สะบัดปากกา จับที่ด้ามปากกาแล้วเขย่าเหมือนเวลาจะวัดไข้ บางทีอากาศก็เข้าไปบล็อกไส้หมึก พอสะบัดแล้วหมึกจะได้ไหลกลับลงมาที่หัวปากกา
  • ใช้หมึกให้ถูกชนิด  ถ้าเป็นปากกาด้ามโปรดจนคุณไม่ยอมเปลี่ยน ก็ต้องหมั่นเปลี่ยนไส้หมึก หรือซื้อหมึกมาเติมให้ถูกชนิด

วิธีการที่ 2 อุปกรณ์ที่มีในบ้าน อาจช่วยแก้ปัญหาปากกาลูกลื่นหมึกแห้งได้

  • เอาปากกาไปขีดที่พื้นรองเท้า  จากนั้นลองเขียนบนกระดาษดู
  • เคาะหัวปากกากับโต๊ะหรือพื้นแข็งๆ อย่าลืมเอากระดาษรองก่อน หมึกจะได้ไม่เลอะโต๊ะ บางทีทำแล้วก็เขียนได้ดีเหมือนเก่า
  • เขียนบนยางลบหรือพื้นยาง  อาจจะทำให้ลูกลื่นหมุนสะดวกขึ้น
  • ถอดไส้ปากกา แล้วเอาหัวปากกาแช่ในแอลกอฮอล์ล้างแผล ประมาณ 5 นาที
  • จุดไฟแช็คแล้วเอามาลนหัวปากกา  (ระวังอย่าลนนานเกิน เดี๋ยวพลาสติกจะละลาย ทีนี้ก็เจ๊งของจริงเลย) กดปากกากับกระดาษแล้วขีดเขียนจนหมึกไหลตามเดิม
  • ถูหัวปากกาที่เขียนไม่ออกกับตะไบเล็บ
  • เอาปากกาใส่ถุงซิปล็อค  จากนั้นเอาถุงไปแช่ในหม้อใส่น้ำเดือด 3 – 5 นาที เสร็จแล้วเอาออกมาพักให้เย็น แล้วเอาปากกาออกมาซับกับกระดาษเยอะๆ เท่านี้ก็น่าจะใช้ได้แล้ว
  • เอาลวดชุบน้ำยาล้างเล็บ แล้วสอดเข้าไปทะลวงไส้หมึกที่แห้ง  วิธีนี้เลอะเทอะหน่อย พอลวดเข้าไปสุดไส้แล้ว ให้ใช้สายกีต้าร์ขนาด .010 นิ้วทะลวงซ้ำ จนเข้าถึงลูกลื่น น้ำยาล้างเล็บจะเป็นตัวทำละลาย เท่านี้ปากกาก็กลับมาดีเหมือนเก่า
  • ถอดหัวปากกาออก แล้วดันหมึกจากปลายอีกด้าน โดยใช้ปลายคลิปหนีบกระดาษหรือลวด ถ้าเห็นฟองอากาศอัดอยู่แถวหัวปากกา  หรือจะใช้ฟองน้ำชิ้นเล็กๆ ก็ได้ พอหมึกไหลลงไปมากพอ ให้ติดหัวปากกากลับมา จากนั้นขีดเขียนจนหมึกไหลตามเดิม
  • ใช้น้ำ จะร้อนหรือเย็นก็ใช้ได้ทั้งนั้น เอาหัวปากกาจ่อใต้น้ำก๊อกเย็นๆ ถ้ามีหมึกแห้งกรังอยู่ จะทำให้หมึกไหลอีกครั้ง เพราะน้ำช่วยหล่อลื่นลูกลื่นที่แห้งกรัง
  • เปิดน้ำอุ่นรดหัวปากกา ความร้อนจะช่วยให้หมึกแห้งกรังละลายได้
  •  เขียนบนผ้าขี้ริ้วเปียกๆ กดลงไปแรงๆ เลย ลูกลื่นจะได้หมุนไปมา หมึกเริ่มไหล ที่ต้องใช้เศษผ้าหรือผ้าขี้ริ้วเพราะผ้าเปื้อนหมึกนี่ซักออกยากแน่นอน
  • เอาไส้ไปใส่ไมโครเวฟ วางไส้ปากกาบนทิชชู่หนาๆ แล้วอุ่นในไมโครเวฟแค่แป๊บเดียว แบบให้หมึกยังไม่ทันร้อน
  • ถ้าไมโครเวฟรุ่นเก่าๆ หน่อย ให้อุ่น 2 รอบ รอบละ 10 วินาที แต่ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆ ต้องน้อยกว่านั้น ระวังอย่าร้อนจนพลาสติกละลายล่ะ
  • วิธีนี้ค่อนข้างอันตราย อย่าเผลอเดินไปไหนระหว่างอุ่นล่ะ เพราะปากกาอาจละลายหรือระเบิดได้ ทีนี้ก็หมึกเละเต็มไมโครเวฟแน่
  • เอาหัวปากกามาถูกกับปากกามาร์กเกอร์ ปากกามาร์กเกอร์แบบลบไม่ออกนี่แหละตัวทำละลายชั้นดี เอามาถูกันแล้วหมึกที่แห้งกรังจะกลับมาไหลดีเหมือนเดิม
  • ใช้ลูกยางสวนล้างจมูกของเด็ก  มีขายตามร้านขายยา แค่เอาปลายไส้เสียบเข้าไปในลูกยางแล้วบีบจนหมึกเริ่มไหลตามเดิม

เคล็ดลับ

  • บางทีก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนหมึกหรือเปลี่ยนปากกา ถ้าทำทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล ก็ซื้อใหม่เถอะครับ
  • เป่าปากกาอย่างเดียว อย่าเผลอดูด ไม่งั้นก็ปากมีสีแน่นอน
  • ถอดไส้มาสำรวจ ส่วนใหญ่จะโปร่งใสอยู่แล้ว จะเห็นเลยว่าหมึกหมดหรือมีฟองอากาศหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นวิธีขีดเขียนบนกระดาษอย่างเดียวคงไม่ได้ผล
  • ต่อไปควรมีปากกาสำรองติดตัวไว้ เผื่อหมึกแห้งแล้วแก้ไม่หาย
  • ถ้าปากกาคุณเขียนดีจนไม่อยากเปลี่ยน แต่ดันหาไส้ refill ไม่ได้ ก็ให้ใช้วิธีเติมหมึกแทน เดี๋ยวนี้ร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนทั้งแบบมีหน้าร้านและตามเน็ต มีหมึกพร้อมอุปกรณ์เติมให้เสร็จสรรพ จะใช้หมึกเป็นหลอด หรือเติมหมึกจากปากกาด้ามอื่นแทน ให้ใช้คอตตอนบัดดันหมึก โดยถือไส้ปากกา 2 อันติดกันไว้ หรือจะใช้เทปพันก็ได้
  • ตอนสะบัดปากการะวังหมึกกระเด็นไปทั่ว อย่าสะบัดในบ้าน ออกไปสะบัดข้างนอกในที่เปิดโล่งดีกว่า
  • หรือปิดฝาปากกา ผูกเชือก จากนั้นบิดเชือกเป็นเกลียวแล้วปล่อยให้ปากกาหมุนติ้วแทนก็ได้ แบบนี้ไม่เลอะเทอะแน่นอน

คำเตือน

  • ถ้าจะเป่าที่ด้านบนของปากกา ระวังอย่าเผลอหายใจเข้า (ดูด) ถ้าหมึกเข้าปากอาจเป็นอันตรายได้
  • เวลาเคาะหรือสะบัดปากกาหมึกมักจะกระเด็น เพราะงั้นระวังอย่าให้โดนตัวเองและคนอื่น โดยเฉพาะเลอะตามเสื้อผ้าหรือสิ่งของรอบตัว

ที่มา : วิกิฮาว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Call Now Button