ปากกาหมึกซึม

ปากกา

ปี ค.ศ.1884 Lewis Edson Waterman ได้ผลิตปากกาที่มีหมึกในตัว เรียกว่า ปากกาหมึกซึม (Fountain pen) ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงถือว่า Waterman เป็นบิดาแห่งการประดิษฐ์ ปากกาหมึกซึม มีการคิดค้นพัฒนาปากกาชนิดนี้ให้มีคุณภาพดีขึ้น สะดวกในการใช้งาน และมีรูปทรงสวยงาม ผลิตในระดับอุตสาหกรรมทั้งในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ สืบต่อมาจนถึงในปัจจุบัน มีนักประดิษฐ์ ปากกา ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี อาทิเช่น George Parker, Walter A. Sheaffer เป็นต้น และได้ครอบครองความเป็นจ้าวแห่งเครื่องมือสำหรับการเขียนมาโดยตลอดเป็นเวลานานหลายสิบปี

ปากกาหมึกซึม เก่า แต่ยัง เก๋า

ปากกาหมึกซึม เป็นปากกาชนิดแรกๆ ของโลก โดยพัฒนามาจากปากกาแบบจุ่ม ที่ไม่มีกลไกสำหรับกักเก็บหมึกในตัว (ปากกาแบบจุ่มจะใช้วิธีค่อยๆจุ่ม เมื่อหมึกที่ติดหัวปากกาหมด ก็ต้องจุ่มน้ำหมึกในขวดหมึกก่อนเขียนต่อ) โดยหลักๆแล้ว ปากกาหมึกซึม ประกอบด้วย 4 ส่วน สำคัญ

  • ตัวหมึก ปากกา แต่ละด้ามอาจมีกลไกการเติมหมึกต่างกันไป แต่โดยมากมักจะเป็นหลอดหมึก ทั้งแบบใช้แล้วทิ้ง (มีหมึกมาจากโรงงาน) หรือ หมึกแบบหลอดสูบที่สามารถสูบหมึกใช้เองได้ แต่ มีปากกาบางชนิดที่มีกลไกสำหรับสูบหมึกฝังมาด้วย เรียกว่า ชนิด piston-filling โดยส่วนใหญ่ปากกาชนิดนี้จะจุน้ำหมึกได้เยอะกว่าแบบใช้หลอดหมึก
  • ท่อส่ง เป็นท่อส่งน้ำหมึกเข้าไปสู่บริเวณรางหมึก
  • รางหมึก หรือ ฟีด เป็นบริเวณที่จะส่งน้ำหมึกออกมาสัมผัสกับบริเวณหัวปากกา
  • หัวปากกา หรือ นิบ เป็นบริเวณที่ใช้เขียน อาจจทำมาจากโลหะทั่วไป เช่น สเตนเลส อะลูมิเนียม หรือ โลหะมีค่าจำพวกทอง โดยมากบริเวณปลายหัวปากกาจะมีการเคลือบโลหะอิริเดียม เพื่อให้ปากกาเขียนง่าย

ปากกาหมึกซึม หนึ่งในรูปแบบการเขียนที่เก่าแก่

มนุษย์กับการสื่อสารเป็นของคู่กันมาแต่โบราณ ในอดีตมนุษยชาติเราขีดและเขียนเพื่อสื่อสารและบ่งบอกถึงเรื่องราวต่างๆ ผ่านการวาดภาพลงในถ้ำหรือการแกะสลักหิน ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาการทางด้านกระดาษ มนุษย์ก็เปลี่ยนรูปแบบการเขียนไปสู่ปากกาจากขนนก และ ปากกาจุ่มหมึก ที่ยังไม่มีหมึกอยู่ในตัวปากกา การพกพาไปไหนมาไหนจึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่สะดวก เพราะต้องพึ่งขวดหมึกไปใช้คู่กันด้วย และมักจะหกหรือซึมออกมาเลอะเทอะ ความพยายามของมนุษย์ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้มีหมึกอยู่ในตัวปากกาและสามารถพกพาไปได้อย่างสะดวกสบาย เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 แต่เพิ่งเริ่มมาคิดค้นกันอย่างจริงจังในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อ Daniel Schwenter นักประดิษฐ์ชาวเยอรมนีเสนอแนวคิดเรื่องการเก็บน้ำหมึกไว้ในตัวปากกาครั้งแรก และในศตวรรษถัดมา ปากกา ชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “fountain pen” หรือ ปากกาหมึกซึม ซึ่งเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่อย่างแท้จริง

ปากกาหมึกซึม ในปัจจุบันที่เรารู้จักกัน เป็นผลมาจากจุดเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ.1884 ที่ Waterman ได้คิดค้นระบบจ่ายน้ำหมึกที่มีประสิทธิภาพ และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีการพัฒนาระบบที่ทำให้น้ำหมึกปิดได้สนิท หมดปัญหาการรั่วซึม และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกของปากกาหมึกซึม ที่ต่อมากระจายจากอเมริกาไปยังยุโรปในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ปากกาหมึกซึม ได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากการเข้ามาของ ปากกาลูกลื่น (ballpoint pen) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีกว่า เข้ามาแทนที่ ด้วยการผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่า และสภาพของน้ำหมึกที่เขียนได้ดีกว่าในหลายสถานการณ์ แบรนด์อย่าง Sailor จากประเทศญี่ปุ่น ที่แต่เดิมเคยทำแต่ ปากกาหมึกซึม มาตลอด ยังต้องปรับเปลี่ยนไปผลิต ปากกาลูกลื่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตอบสนองความต้องของตลาด

การเติบโตและตลาดของ ปากกาหมึกซึม

เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริง หากจะกล่าวว่าอัตราการเติบโตของปากกาหมึกซึม ในปัจจุบันนั้น กลับเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม สวนทางกับตลาดสินค้าของหรูที่เริ่มหดตัวลงจากรายงานของหนังสือพิมพ์ The Telegraph ระบุว่ายอดขายของ ปากกาหมึกซึม ของร้าน PEN Heaven สูงขึ้นถึงกว่า 48% (เป็นปากกาในกลุ่มตลาดหรู หรือ luxury สูงถึง 38% ) ในปี ค.ศ.2016 และแบรนด์อย่าง Pentel ผู้ผลิตเครื่องเขียนจากประเทศญี่ปุ่น ก็มียอดเติบโตในกลุ่ม ปากกาหมึกซึม ถึงปีละ 6%

Rob Walker นักวิเคราะห์จาก Euromonitor International ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าตลาดในระดับสากลมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขที่เผยออกมาเมื่อปี ค.ศ.2016 โดยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2020 จะมีมูลค่าสูงเกือบถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดมีการขยายตัวมาจาก สองเหตุผลสำคัญ ประการแรก คือ การผละตัวเองออกจากเทคโนโลยีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Millenials และหันมาสู่การเขียนแบบดั้งเดิม และอีกเหตุผล คือ การเติบโตของตลาดในประเทศจีน ที่ทำให้ ปากกาหมึกซึม เป็นที่นิยม เนื่องจาก มีความโดดเด่นไม่น้อยกว่าสินค้าหรูชนิดอื่นๆ กับตลาดในประเทศบราซิล ที่มองว่า ปากกาหมึกซึม เป็นอุปกรณ์เสริมส่วนบุคคลที่ทุกคนต้องมี นอกจากนี้แล้ว ปากกาหมึกซึม ยังผันตัวเองไปสู่ตลาดสินค้าหรู และมีความเป็นตลาดเฉพาะตัวมากกว่าเดิม

ข้อดีของ “ปากกาหมึกซึม”

  • เขียนง่าย ปากการูปแบบอื่นๆ เช่น ปากกาลูกลื่น ปากกาโรลเลอร์บอล หรือแม้กระทั่งปากกาเจล ต้องอาศัยแรงกด หรือ น้ำหนักที่จุดสัมผัสระหว่างหัวปากกากับกระดาษ เพื่อให้ลูกกลิ้งที่อยู่ในหัวปากกากดลึกเข้าไปเล็กน้อย เพื่อเปิดทางให้น้ำหมึกไหลออกมา แม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนากลไกที่ทำให้เขียนได้เลยไม่ต้องใช้แรงกดมาก เช่น ปากกาเจล แต่กลไกเหล่านี้ยังคงต้องอาศัยแรงหรือน้ำหนักบางส่วน เพื่อให้ลูกกลิ้งเคลื่อน แล้วจ่ายน้ำหมึกออกมาอยู่ดี ผิดกับ ปากกาหมึกซึม ที่น้ำหมึกไปรอที่หัวปากกาแล้ว เพียงแค่ลากไปบนกระดาษเบาๆ ก็ออกแล้ว
  • อิสระในการเปลี่ยนหมึก ผู้ผลิต ปากกาลูกลื่น ปากกาโรลเลอร์บอล หรือ ปากกาเจล มักจำกัดชนิดของสีหมึกเอาไว้ไม่มาก เช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีแดง เป็นสีไส้หมึก อาจมีบางผู้ผลิตเท่านั้นที่ผลิตสีหมึกออกมาให้เลือกมากกว่าสีเฉพาะที่มีอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป แต่ก็จะผลิตออกมาน้อย หรือไม่ก็เป็นช่วงสั้นๆ และส่วนมากไส้หมึกเหล่านี้มัก “ล็อค” เอาไว้ให้ใช้กับปากกาของผู้ผลิตเองเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับปากกาของผู้ผลิตรายอื่นได้ ขณะที่ ปากกาหมึกซึม การเลือกใช้หมึกแทบจะเป็นไปอย่างอิสระ มีทั้งหมึกกันน้ำอย่าง Noodler’s Ink / Pelikan Fount Indian Ink / De Atramentis Document Ink หรือ Montblanc Permanent Black เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้งานมีอิสระได้มากกว่าหากต้องการเปลี่ยน หรือ เลือกหมึกที่ตัวเองชอบ
  • ดูแลรักษาง่ายและมีความยั่งยืน ปากกาหมึกซึม ส่วนใหญ่ เป็นปากกาที่ไม่มีกลไกซับซ้อนมากมาย สามารถบำรุงรักษาได้ด้วยตัวเองระดับหนึ่ง ขณะที่ ปากกาลูกลื่น ปากกาโรลเลอร์บอล หรือแม้กระทั่งปากกาเจล ในบางยี่ห้อ กลับมาความซับซ้อนในการดูแลค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลไกในการกด ที่มักจะเสียได้บ่อย หรือ การเปลี่ยนไส้ ที่แม้ดูผิวเผินจะง่าย แต่ที่จริงแล้วหากผู้ผลิตเกิดตัดสินใจเลิกผลิต หรือ บริษัทผู้ผลิตเกิดปิดกิจการขึ้นมา ปากกาที่ใช้ไส้หมึกเหล่านี้จะกลายเป็นของที่ใช้ไม่ได้ไปเลย ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กรณีการล้มละลายของแบรนด์อย่าง OMAS จาก อิตาลี ที่ราคาปากกาลูกลื่น และ ปากกาโรลเลอร์บอล ของบริษัทฯในตลาดมือสอง มีราคาจำหน่ายในปัจจุบันราวๆ ประมาณ 4,000 – 5,000 บาท (จากเดิมที่ราคาจำหน่ายตอนแรกเป็นหลักหมื่น) ขณะที่ปากกาหมึกซึมของบริษัทฯ ยังคงมีราคาสูงที่ระดับหลักหมื่นอยู่ ในระยะยาว หากผู้ผลิตเลิกผลิตไปแล้ว ปากกาหมึกซึม เหล่านี้ก็ยังมีร้านรับซ่อม หรือ ผู้ที่ยังซ่อมปากกาเหล่านี้อยู่ด้วยชิ้นส่วนอื่นๆ ทำให้มีอิสระมากกว่าเดิม และเมื่อคิดเป็นตัวเงินแล้ว ก็มีความประหยัดกว่า เมื่อคำนวณจากอายุการใช้งานของ ปากกาหมึกซึม ที่ยาวนานกว่า
  • มีตัวเลือกในตลาดเยอะ ในตลาดทั่วไป การผลิต ปากกาลูกลื่น ปากกาโรลเลอร์บอล หรือ ปากกาเจล มักต้องใช้การผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมและเป็นโรงงาน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การผลิตเหล่านี้ทำให้เรามีตัวเลือกที่ไม่หลากหลายหากจะต้องเลือกใช้ปากกาเหล่านี้ อาจมีคนเสนอได้ว่า อันที่จริงแล้วปากกาเหล่านี้มีผู้ผลิตจำนวนมาก และต่างมีหลากหลายแบรนด์ แต่ส่วนมากก็ต้องมีฐานโรงงานที่ใหญ่พอ หรือไม่ ก็ต้องมีกำลังการผลิตที่เพียงพอจะถึงจุดคุ้มทุน ขณะที่ ปากกาหมึกซึม จะพบเห็นผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ผลิตจากหลายแบรนด์ ในตลาด ปากกาหมึกซึม สิ่งที่จะได้พบนอกจากความหลากหลายจากการผลิตแล้ว ยังเป็นความหลากหลายของตัวปากกาด้วยเช่นกัน ในตลาด ปากกาหมึกซึม ที่เขียนได้ดีและมีคุณภาพเชื่อถือได้ ราคาเริ่มต้นเพียง 100 บาท เท่านั้น (เช่น Platinum Preppy) ไปจนถึงปากกาผู้บริหารระดับหลักหมื่น (เช่น Montblanc Meisterstuck 149) และปากกาที่กลายมาเป็นงานศิลปะราคาหลักครึ่งล้านด้วย (เช่น Samurai ของ Montegrappa) ปากกาหมึกซึม บางรุ่น เมื่อซื้อมาแล้ว ราคาจำหน่ายต่อในตลาดรองยังมีมูลค่าสูงอยู่ และถือว่าเป็นการลงทุนได้เช่นเดียวกัน ในหลายรุ่นราคาซื้อขายต่อแทบไม่ตกจากราคาที่จำหน่ายจริง และบางรุ่นมีราคาสูงกว่าราคาแรกจำหน่ายเสียด้วยซ้ำ นอกจากความหลากหลายของตัวปากกาแล้ว หัวปากกายังเป็นจุดแข็งสำคัญ ตามปกติแล้ว ปากกาลูกลื่น ปากกาโรลเลอร์บอล หรือ ปากกาเจล มักจะมีขนาดเส้นไม่กี่ประเภท อย่างมากก็แค่ขนาดของเส้น แต่ในส่วนของ ปากกาหมึกซึม ลักษณะเส้นและหัวเขียนมีหลากหลาย Extra-Fine (เส้นเล็กพิเศษ) ไปจนถึงเส้นใหญ่ (Broad หรือ หนา) รวมถึงแบบหัวตัด (1.1 Stub) เส้นหัวตัดเฉียง (Oblique Nib) บางแบรนด์ถึงกับมีบริการออกแบบหัวปากกาด้วยตนเอง (Bespoke Nib) ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกรูปแบบที่ต้องการได้เอง ความหลากหลายของหัวปากกานี้ ครอบคลุมไปถึงวัสดุที่นำมาทำเป็นหัวปากกา ที่มีทั้ง เหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel) ทองคำ 14 กะรัต / ทองคำ 18 กะรัต / ทองคำ 21 กะรัต หรือแม้กระทั่ง แพลเลเดียม 23 กะรัต ก็มี ตามแต่ความต้องการของแต่ละคน หรือแม้กระทั่งชนิดของหัวปากกาที่เป็นแบบปกติ หรือ แบบนุ่ม ที่สามารถปรับขนาดเส้นได้ตามแรงกด หรือ แบบยืดหยุ่น ที่สามารถให้น้ำหนักที่กด เพื่อให้ได้ขนาดเส้นที่ต้องการได้ ความหลากหลายของ ปากกาหมึกซึม จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ตลาดมีชีวิตชีวาและเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนที่ใช้ ปากกาหมึกซึม ยังคงใช้ปากกาเหล่านี้อย่างเหนียวแน่น

ที่มา : ไรท์ติ้งอินไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Call Now Button